วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พูด......เขียน.....สัมพันธ์กันอย่างไรอย่างไรกับวิจัย

 

การพูด

         การพูด มีความสำคัญในชีวิตเรามาก เพราะมนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ทั้งคนที่อยู่ใกล้ตัวเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เครือญาติ และคนอื่นที่อยู่ในสังคมเดียวกันแต่ไม่ใช่เครือญาติ เช่นเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน คนรู้จัก บางครั้งก็มีการพูดสื่อสารกับคนที่เราไม่รู้จัก ดังนั้นหากสามารถพูดได้ดี สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้อยู่ร่วมกันคนอื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
     

ข้อควรคำนึงในการสื่อสารด้วยการพูด      

        การพูดจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ผู้พูดได้วิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญในการพูดให้ถ่องแท้หรือไม่ มีการเตรียมพร้อมเพียงใดก่อนที่จะพูด ฉะนั้นการพูดจึงมีข้อควรคำนึงดังนี้

การพูดให้เหมาะสมกับบุคคล
       ต้องวิเคราะห์ในเรื่องต่อไปนี้ คือ วัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ ความสนใจพิเศษเพื่อเตรียมเรื่องที่จะพูดได้อย่างเหมาะสม

การพูดให้เหมาะกับกาลเทศะ
      ควรพิจารณาว่าจะพูดในโอกาสใด การพูดนั้นเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน

การพูดให้ผู้อื่นเข้าใจตรงตามความประสงค์
     ควรใช้ภาษาบ่งบอกความต้องการหรือความมุ่งหมายให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการตีความหลายแง่หลายมุม

การพูดสรุปใจความสำคัญจากเรื่องที่ฟังหรืออ่าน
     เป็นการพัฒนาการใช้ภาษาให้สัมพันธ์กันทุกด้าน และอาศัยความสามารถในการสรุปความจากเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้อย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจเจตนาของผู้ส่งสารได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว

การพูดแสดงความคิดเห็น
     เป็นการใช้ทักษะ การฟัง การอ่าน การพูด และการคิดให้สัมพันธ์กัน ต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพราะการพูดแสดงความคิดเห็นผู้พูดต้องใช้ทั้งความรู้ ความคิด เหตุผลหรือหลักการต่าง ๆ หลายอย่างประกอบกัน ความคิดเห็นจึงจะมีคุณค่าน่าเชื่อถือ


 การเขียน

       การเขียนเป็นระบบการสื่อสาร หรือบันทึกถ่ายทอดภาษาเพื่อแสดงออกซึ่งความรู้ ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์โดย ใช้ตัวหนังสือ และเครื่องหมายต่างๆเป็นสื่อ ดังนั้น การเขียนจึงเป็นทักษะการใช้ ภาษา แทนคำพูดที่สามารถสื่อความหมายให้เป็นหลักฐานปรากฏได้นานกว่าการพูด การเขียนที่เป็น เรื่องราวเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามความมุ่งหมายของผู้เขียนนั้น จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนมีทักษะในการใช้ภาษาเขียนได้ดีเพียงใด ทักษะการใช้ภาษาเขียน ต้องอาศัย พื้นฐานความรู้จากการฟัง การพูด และการอ่าน เพราะจากพื้นฐานดังกล่าว จะทำให้มีความรู้ มีข้อมูล และมี ประสบการณ์เพียงพอที่จะให้เกิดความคิด ความสามารถในการเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดออกมา สื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 

ข้อคำนึงในการสื่อสารด้วยการเขียน

       การเขียนที่ดี คือ ต้องเขียนสื่อสารได้ตรงตามหลักจุดประสงค์ สามารถถ่ายทอดความรู้ ความคิด
และอารมณ์ใส่ลงไปในงานเขียนได้อย่างครบถ้วน หลักการเขียนทั่วไปมีดังนี้
       1. เขียนรูปคำให้ถูกต้อง ไม่ให้มีคำที่เขียนผิด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ

       2. ใช้คำให้ตรงความหมาย คำในภาษาไทยบางคำมีหลายความหมาย ทั้งความหมายตรงและ
ความหมายแอบแฝง ผู้เขียนจะต้องศึกษาเรื่องการใช้คำให้ดีก่อนจะลงมือเขียน

       3. การใช้คำตามระดับบุคคล คำในภาษาไทยมีหลายระดับการใช้ จึงควรใช้คำให้ถูกต้องตามระดับ
ของบุคคล ได้แก่ บุคคลที่ต่ำกว่า บุคคลที่เสมอกัน และบุคคลที่อาวุโสกว่า

       4. เรียบเรียงคำเข้าประโยคถูกต้อง สละสลวย โดยผู้เขียนต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในโครงสร้างประโยค ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
          4.1 เขียนให้ถูกต้องตามรูปประโยค
          4.2 ไม่ใช้รูปประโยคภาษาต่างประเทศ
          4.3 ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย

       5. ในการเขียนควรศึกษาการเขียนประเภทต่างๆ แล้วเขียนให้ถูกต้องตามรูปแบบ รวมทั้งจะต้องศึกษาข้อมูลการเขียนให้ถูกต้อง ชัดเจน

       6.ทบทวน เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ผู้เขียนควรอ่านทบทวน ตรวจสอบความสละสลวยของคำ เพื่อ
ปรับปรุงแก้ไขให้เกิดงานเขียนที่ดี
 
 
 
 

งานวิจัยกับการพูดและการเขียน

        ในขั้นตอนของการทำวิจัย เช่นการทำปริญญานิพนธ์ ผู้วิจัยจะต้องสืบค้นข้อมูลเพื่อให้เกิดหัวข้อในการวิจัยเมื่อผู้วิจัยได้หัวข้อในการวิจัยแล้ว ผู้วิจัยจะต้องทำโครงร่างในการวิจัยในกระบวนการวิจัยในขั้นตอนนี้ผู้วิจัยจะต้องสือสารด้วยการเขียนซึ่งในการเขียนโครงร่างวิจัยผู้วิจัยจำเป็นต้องใช้ภาษาให้เหมาะสมใช้ภาษาทางการ  อ่านแล้วเข้าใจ ว่าผู้วิจัยต้องการจะทำอะไรและมีการดำเนินการอย่างไร เมื่อเรานำเสนอโครงร่างวิจัยก็จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย เข้าใจไปในแนวทางเดียวกับสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการจะสื่อให้ผู้ฟังรับรู้ นอกจาการเขียนแล้ว การนำเสนอด้วยคำพูดถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการสื่อสารด้วยการเขียนแน่นอนว่าในการนำเสนอโครงร่างวิจัยผู้จัยจะต้องพูดอธิบายงานวิจัยที่ผู้วิจัยต้องการจะทำให้คณะกรรมการและผู้ฟังเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง นอกจากจะได้อนุมัติให้ทำงานวิจัย ผู้วิจัยจะได้แนวทางในการทำงานวิจัยนั้นๆ ด้วย
 
        ในขั้นตอนของการดำเนินการวิจัยผู้วิจัยจะต้องสื่อสารด้วยการพูดอย่างแน่นอน เพราะผู้วิจัยจะต้องไปติดต่อกับหน่วยงานที่ผู้วิจัยต้องการจะเข้าไปทำการวิจัย การพูดที่ดีจะทำให้หน่วยงานนั้นๆเชื่อถือและยอมให้ผู้วิจัยเข้าไปดำเนินงานวิจัย
 
        ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล ขั้นตอนนี้การเขียนและการพูดสำคัญอย่างมาก เพราะในการดำเนินการวิจัยผู้วิจัยจะต้องใช้เครื่องมือในการวิจัยเช่นแบบสอบถาม แบบทดสอบ การที่ผู้วิจัยจะได้ผลตามที่ผู้วิจัยต้องการนั้น ผู้วิจัยจะต้องจัดทำเครื่องมือให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้วิจัยเช่น แบบสอบถามวัดเจตคติต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยก็ต้องออกแบบให้ได้เนื้อหาของแบบสอบถามแต่ละข้อที่วัดเจตคติในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขั้นตอนนี้การเขียนถือว่าสำคัญอย่างมาก นอกจากการสร้างเครื่องมือแล้ว การอธิบายให้ผู้ที่ทำแบบสอบถามเข้าใจก็จะทำให้ผู้ทำแบบสอบถามทำได้อย่างถูกต้อง ผู้วิจัยก็จะได้ผลการวิจัยตามที่ต้องการ
 
      ในขั้นตอนของการสรุปผลการวิจัยและการนำเสนอผลการวิจัยขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง การนำเสนองานวิจัยหากผู้วิจัยนำเสนอได้ดีใช้ภาษาพูดที่เข้าใจได้ง่าย ผู้ฟังเข้าใจในเนื้อหาที่ผู้วิจัยต้องการนำเสนอได้เป็นอย่างดี นอกจากการนำเสนอในรูปแบบของโปสเตอร์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆการเขียนถือเป็นสิ่งทีสำคัญมาก เขียนนำเสนอได้อย่างถูกต้อง จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในงานวิจัยนั้นๆได้อย่างชัดเจน
 
     จะเห็นได้ว่าการพูดและการเขียนนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานวิจัย เพราะนอกจะทำให้ผู้วิจัยทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผลงานการวิจัยก็จะมีประสิทธิภาพ งานวิจัยนั้นๆก็จะเป็นงานที่มีคุณค่าเพราะไม่ใช่แค่เพียงได้ผลการวิจัยแล้วเก็บเข้าชั้นวางหรือห้องสมุด แต่มีการเผยแพร่ด้วยการนำเสนอด้วยการเขียนและการพูดที่ดี ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ เกิดแนวทางนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
 
 
 
 
       
        .........หวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะได้รับสาระ ความรู้ กันถ้วนหน้า น่ะค่ะ........

    



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น